Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

“ตาแห้ง” โรคยอดฮิตของคนติดจอ

10 ธ.ค. 2567

ปัจจุบันหลายคนต้องใช้การสื่อสารทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งเรื่องการเรียนออนไลน์ การประชุม การค้าขาย หรือการทำธุรกิจต่างๆ ผ่านการใช้จอคอมพิวเตอร์ หรือ สมาร์ทโฟน ติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งการใช้งานสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพดวงตา อาจทำให้มีอาการตาแห้ง แสบตา เคืองตา

ตาแห้งคืออะไร

ตาแห้ง คือ การที่ปริมาณน้ำตาที่มาหล่อเลี้ยง ให้ความชุ่มชื้นกับดวงตา และเคลือบกระจกตาดำไม่พอ ซึ่งปกติน้ำตาถูกสร้างจากต่อมน้ำตา

 

สาเหตุของโรคตาแห้ง

  • การเปลี่ยนแปลงตามวัย กล่าวคือผู้สูงวัยจะมีการสร้างน้ำตาออกมาได้น้อยลง หรือต่อมไขมันบริเวณเปลือกตามักจะมีการอุดตันได้ ทำให้ขาดชั้นไขมันของน้ำตา น้ำตาจึงระเหยเร็วกว่าปกติ
  • สภาพอากาศที่ร้อน มีลมแรง หรืออากาศที่แห้งในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศ
  • ควันบุหรี่ ควันไฟ หรือสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อตา
  • การอ่านหนังสือหรือการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานานๆ
  • การใส่คอนแทคเลนส์
  • ภาวะขาดวิตามิน เอ
  • โรคทางตาบางชนิด หรือโรคประจำตัวของผู้ป่วย

อาการของโรคตาแห้ง

ผู้ป่วยจะรู้สึกระคายเคืองตา คล้ายมีเศษผงเข้าตา แสบร้อน บางรายมีขี้ตาเป็นเมือกเหนียวยืดเป็นเส้น เพราะน้ำตามีส่วนประกอบของน้ำเมือกและน้ำมัน เมื่อโดนแดดและลม น้ำจะถูกระเหยไป เมือกข้นมากขึ้น ผู้ป่วยจึงมีขี้ตา ซึ่งมีลักษณะเป็นเมือกสีขาว หรือสีเหลืองนวลมากกว่าปกติ ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการน้ำตาไหลจากการที่ต่อมน้ำตาใหญ่ (Reflex Tear) บีบน้ำตาออกมามากเพื่อชดเชยความสมดุลของน้ำตาลดลง จึงทำให้น้ำตาไหลออกมามาก

การวินิจฉัยโรคตาแห้ง

  • จักษุแพทย์จะวินิจฉัย “โรคตาแห้ง” โดยการซักประวัติ และบางครั้งอาจใช้วิธีทดสอบ โดยกาวัดปริมาณน้ำตาที่เรียกว่า Schrimer’s Test
  • ตรวจผิวกระจกตาด้วย Fluorescine Paper
 

การรักษาโรคตาแห้ง

รักษาที่สาเหตุ เช่น ต่อมไขมันอุดตัน รักษาได้ คือ Eyelid Treatment

  • ใช้น้ำตาเทียมหยอดตาที่ใช้เพื่อหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นกับผู้ที่ตาแห้ง
  • การอุดรูระบายน้ำตา สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งอย่างรุนแรง จักษุแพทย์จะใช้วิธีอุดรูระบายน้ำตาเพื่อขังน้ำตาที่มีอยู่ให้หล่อเลี้ยงตาอยู่ได้นาน ๆ ไม่ปล่อยให้ไหลทิ้ง เหมือนกับการสร้างเขื่อนกั้นเก็บกักน้ำไว้ใช้ ซึ่งมีทั้งการอุดแบบชั่วคราว และการอุดแบบถาวร สำหรับการอุดแบบชั่วคราว จักษุแพทย์จะสอดคอลลาเจนขนาดเล็กเข้าไปในรูท่อน้ำตา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตาขึ้น คอลลาเจนจะสลายไปเอง ภายใน 3 สัปดาห์ สำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำตาแห้งมากจักษุแพทย์จะอุดรูระบายน้ำตาแบบถาวรให้ ทั้งนี้จะใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย


การป้องกันโรคตาแห้ง

  • หลีกเลี่ยงการปะทะโดยตรงกับแดดและลม โดยสวมแว่นกันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้ง ไม่นั่งในที่ที่มีลมพัดหรือแอร์เป่าใส่หน้า
  • พักสายตา โดยการหลับตาหรือพักสายตาลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถ ประมาณ 2-3 นาที ในทุกครึ่งชั่วโมง
  • สำหรับผู้ที่ตาแห้งมาก อาจใช้กรอบแว่นชนิดพิเศษที่มีแผ่นคลุมปิดกันลมด้านข้าง แว่นชนิดนี้มีคุณสมบัติช่วยครอบทั้งดวงตาและป้องกันลมด้วย หรือจะใช้แผ่นซิลิโคนชนิดพิเศษที่ใสบางและนุ่ม นำมาตัดให้เข้ากับด้านข้างของกรอบแว่นตาคู่เดิม ซึ่งเรียกว่า Moist Chamber
  • ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้ปริมาณน้ำเพียงพอในการสร้างน้ำตา
  • ไม่ควรขยี้ตา เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น และอาจจะมีการติดเชื้อได้

“โรคตาแห้ง” เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย ถึงแม้ว่าอาการจะไม่ได้รุนแรงแต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษาก็จะทำให้เกิดการระคายเคืองมากขึ้น จนเกิดการอักเสบทำให้มีผลต่อการมองเห็นได้ ควรพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ. เสริมพงศ์ ศิริกุล จักษุแพทย์ อนุสาขาจักษุวิทยาจอตาและวุ้นตา

ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์ตาเฉพาะทาง โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1745 ต่อ ศูนย์ตาเฉพาะทาง


 

 

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.